ทำไมธุรกิจขาดทุน!! แต่ยังไม่ปิดกิจการ และอยู่ได้เป็นปีๆ

22 Apr 2022

 

ท่านเคยสงสัยกันมั้ยว่าทำไมหลายๆ ธุรกิจที่เค้าขาดทุน แต่ทำไมกิจการเขาถึงยังอยู่ได้ และยังไม่มีวี่แววว่าจะปิดกิจการ ทั้งๆที่หลายๆ ธุรกิจกำไรเยอะแยะเลย แต่กิจการกระท่อนกระแท่น สาเหตุเหล่านี้เกิดหลายหลากหลายปัจจัยมาก มีทั้งที่ตั้งใจให้เกิดแบบนี้ และไม่ตั้งใจให้เกิด

ซึ่งเหตุผลหลักๆที่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าทำไมกิจการที่ขาดทุนยังอยู่ได้นั้น เกิดจากสภาพคล่องในกิจการนั่นเอง ซึ่งถ้าพูดกันภาษาบ้านๆก็คือ เงินสดในกิจการมีมากพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายรายเดือนนั่นเอง

 

6 เหตุผลที่กิจการที่ขาดทุน แต่ยังไม่ปิดกิจการ

 

เหตุผลที่ 1 กิจการดำเนินงานขาดทุน แต่กระแสเงินสดเข้าดีมาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือกิจการที่เป็นสายการบิน หลายคนคงสงสัยแล้วสิว่าทำไมสายการบินถึงมีกระแสเงินสดดี สาเหตุเกิดจากธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่รับชำระค่าตั๋วเครื่องบินมาก่อนที่จะให้บริการแก่นักเดินทางทั้งหลาย ทำให้ธุรกิจสายการบินสามารถนำเงินล่วงหน้านี้มาหมุนใช้ในกิจการได้ก่อน ทำให้ผู้บริหารของกิจการยื้อเวลา และมีเวลาคิดเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการขาดทุนได้มากกว่ากิจการที่กระแสเงินสดไม่ดี ทำให้แอบได้เปรียบกว่ากิจการอื่นๆ ที่ต้องให้บริการก่อนแล้วค่อยเรียกเก็บเงินจากลูกค้า

ในทางตรงกันข้ามกิจการแบบไหนล่ะที่ดำเนินงานกำไร แต่กิจการอาจจะขาดสภาพคล่อง ยกตัวอย่างเช่น กิจการบางประเภทที่เป็นคู่ค้ากับราชการ เพราะเครดิตเทอม หรือที่เรียกง่ายๆว่าการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง โดยราชการอาจจะมีเครดิตเทอมตั้งแต่ 1 เดือนไปจนถึง 6 เดือนเลยทีเดียว โดยกิจการที่สามารถทำงานกับราชการได้จะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่าธุรกิจทั่วไป เพื่อให้มีกระแสเงินสดในการจ่ายค่าใช้จ่ายทันก่อนที่จะได้รับเงินก้อนถัดไปจากงานที่จบไปแล้ว

 

เหตุผลที่ 2 ตั้งใจให้ขาดทุน แต่กิจการก็ยังคงอยู่ได้

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ e-commerce หลายๆเจ้าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Shopee Lazada คำถามก็คือทำไมเขาถึงตั้งใจทำให้ขาดทุนล่ะ ท่านเคยได้ยินคำว่า"ยิ่งให้ ยิ่งได้" หรือไม่ พอกิจการให้ผู้บริโภคได้ใช้ของที่ถูก หรือคือการยอมควักเงินในประเป๋าตัวเองแจกนั่นแหละ สิ่งที่เขาจะได้คือผู้บริโภคก็จะรู้จัก และติดใจในแบรนของเขา ทำให้เกิดการบอกต่อกัน แถมยังเป็นการฆ่าคู่แข่งไปในตัวด้วย ยิ่งใครเงินหนากว่ากัน คนนั้นแหละคือผู้อยู่รอด ลองคิดภาพดูสิ ถ้าวันใดคู่แข่งตายหมดแล้ว เจ้าที่เหลืออยู่ก็เป็นผู้ผูกขาดในตลาดเลยทีเดียวแหละ จนกว่าจะมีนายทุนใหม่เข้ามาในสนามสู้กันต่อไป ข้อดีของการที่มีธุรกิจแบบนี้คือ ผู้บริโภคจะได้ใช้ของในราคาถูกไปจนกว่าเขาจะฆ่ากันเสร็จนั่นแหละ สรุปง่ายๆ ก็คือคนที่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีเงินทุนหนามากนั่นเอง

 

เหตุผลที่ 3 ขาดทุนในงบกำไรขาดทุน แต่กระแสเงินสดเป็นบวก

ยกตัวอย่างเช่น กิจการประเภทโรงงาน ที่ต้องมีการลงทุนสูงมากในเครื่องจักรตอนช่วงเปิดกิจการ ซึ่งถ้าใครพอรู้หลักบัญชีมาบ้างแล้วก็พอจะทราบว่ากิจการที่ซื้อสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ๆ ก็จะต้องมีการแบ่งตัดค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์นั้นๆ เป็นงวดๆ ยิ่งถ้ากิจการซื้อเครื่องจักรแพงมากๆ หลักเป็นร้อยๆล้านบาท ก็จะแบ่งค่าใช้จ่ายเหล่านั้นต่องวดแพงตามไปด้วย ซึ่งจริงๆแล้วเงินได้ถูกจ่ายไปตั้งแต่ ณ วันแรกที่เริ่มกิจการแล้ว แต่ค่าเสื่อมราคานี้ยังอยู่ในงบกำไรขาดทุนอยู่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากหักกับรายได้สูงจนบางทีทำให้งบการเงินขาดทุน แต่ทั้งที่จริงแล้วกระแสเงินสดของกิจการเป็นกระแสบวก ทำให้กิจการนั้นอยู่รอดได้

 

เหตุผลที่ 4 ขาดทุนจากการประมาณการ โดยที่กระแสเงินสดยังเป็นบวก

ข้อนี้พบได้ในหลายๆ กิจการที่ดำเนินกิจการมานานแล้ว แล้วเจอกฎหมายใหม่เข้า เช่น กฎหมายการตั้งประมาณการผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงาน โดยกิจการสมัยก่อนที่ทำกันไม่เคยมีกฎหมายบังคับเรื่องการจ่ายชดเชยพนักงาน เมื่อจเอกฎหมายแรงงาน มาตรา  5 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายชดเชยแรงงานหลังออกจากงาน ทำให้กิจการต้องตั้งสำรองค่าใช้จ่ายตัวนี้เข้ามาในงบการเงิน สิ่งที่เกิดต่อมาคือค่าใช้จ่ายที่ยังไม่เป็นตัวเงินก็ถูกใส่เข้ามาในงบการเงินก้อนโตเลย ทำให้งบขาดทุนกระจุยกระจาย แต่จริงๆแล้วในแง่ตัวเงินสดนั้นกิจการก็ยังไม่ได้จ่ายอยู่ดี ทำให้กิจการยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่การทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้กระกอบการนั้นรู้ตัวว่า จริงๆแล้วในอนาคตยังมีหนี้ก้อนนี้อยู่นะ ดังนั้นอย่างพึ่งดึงเงินออกไปคืนผู้ถือหุ้นหมด ต้องกันเงินส่วนนี้ให้พนักงาน และความอยู่รอดของกิจการในอนาคต

 

เหตุผลที่ 5 กิจการที่กินบุญเก่า

ยกตัวอย่างเช่น กิจการที่มีกำไรมาโดยตลอดหลายปี แล้วมีเงินสะสมอยู่ในบริษัทมาก เจ้าของไม่ได้เอาเงินออกจากกิจการไปหมด ทำให้เงินสดในกิจการมีมากพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ โดยบางกิจการอาจมีเงินสดมากพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายได้อยู่เป็นปีๆเลยทีเดียว

 

เหตุผลที่ 6 กิจการที่เงินสดเข้าทุกวัน

ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารกิจการประเภทนี้จะมีเงินสดเข้ามาหมุนเวียนทุกวัน โดยฝั่งที่เป็นค่าใช้จ่ายบางอย่างก็สามารถมีเครดิตเทอม ทำให้เจ้าของกิจการที่หมุนเงินเก่งๆ บางทีนำประโยชน์ของเครดิตเทอมนี่แหละ มาทำให้กิจการอยู่รอดได้ ลองคิดดูสิว่าถ้ามีเงินเข้ามาทุกวัน แต่ค่าใช้จ่ายดึงระยะเวลาในการจ่ายไปได้ มันก็พอจะยืดเวลาไปได้อีกก่อนที่จะขาดกระแสเงินสด ระหว่างนั้นก็หาวิธีในการแก้ปัญหาให้กิจการกลับมากำไรได้

 

ในการที่กิจการนั้นจะอยู่รอดได้ก็อาจมีหลายเหตุผล ทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวมา อย่างไรก็ตามก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายๆท่าน พอคลายข้อสงสัยไปได้ การวางแผนในการเงิน และสภาพคล่องถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้ ไม่ใช่ดูเพียงแต่ตัวเลขในงบการเงินเท่านั้น และจะเห็นได้ว่าเครดิตเทอมในการทำธุรกิจมีความสำคัญมากเพียงใด สุดท้ายนี้ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะนำแนวคิดเรื่องประโยชน์ของเครดิตเทอมไปใช้ในธุรกิจของท่านได้

 

บทความโดย: บริษัท กรุงเทพการบัญชี (1975) จำกัด