วิธีการหาค่าใช้จ่ายให้บริษัทอย่างถูกต้อง และไม่ถือว่าเป็นการหนีภาษี

30 Apr 2022

 

หลายธุรกิจประสบปัญหากับการที่บริษัทมีรายได้เข้ามาเยอะ แต่ว่าต้นทุนต่ำมาก ทำให้ต้องเสียภาษีตามไปด้วย โดยผู้ประกอบการหลายรายก็จะใช้วิธีสร้างค่าใช้จ่ายๆ ต่างๆนาๆ ซึ่งทำโดยไม่รู้ว่าโทษของมันมีมากแค่ไหน ซึ่งเราได้เคยมีบทความเกี่ยวกับวิธีการที่ภาษีที่อันตรายที่สุดมาแล้ว คลิ๊กอ่านบทความ

 

แต่จริงๆแล้วก็มีหลายวิธีที่จะสามารถลดภาษีให้ท่านได้อย่างถูกกฎหมาย และเป็นค่าใช้จ่ายที่สรรพากรยอมรับด้วยเช่นกัน โดยแต่ละวิธีก็อาจจะต้องดูความเหมาะสมของแต่ละกิจการด้วยเช่นกันดังนี้

การตั้งเงินเดือน

วิธีนี้เป็นวิธีที่เบสิคที่สุด แต่เจ้าของกิจการหลายรายดึงเงินออกไปใช้ส่วนตัว โดยไม่ทำให้ถูกวิธี โดยใช้วิธีการถอนเงินออกไปใช้ดื้อๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดมาก และจะเกิดผลตามมาของบัญชีที่ชื่อว่า เงินกู้ยืมกรรมการ รายละเอียดจะอยู่ในบทความข้อที่ 3 ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดถ้าอยากนำเงินออกมาใช้ ก็แนะนำให้ตั้งเงินเดือนให้ตัวเองดีกว่า แต่ผลเสียของวิธีนี้คือ นำเงินออกไปเยอะมากไม่ได้ เพราะว่าภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 35% เลยทีเดียว ดังนั้นควรวางแผนภาษีส่วนบุคคลของท่านก่อนว่าควรตั้งเงินเดือนกี่บาท

การซื้อสินทรัพย์ในชื่อของบริษัท

หลายคนอาจไม่ทราบว่าของใช้บางอย่างในชีวิตประจำวันเรา สามารถใช้เป็นชื่อบริษัทได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ อาคาร ที่ดิน ฯลฯ สินทรัพย์เหล่านี้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้ แนวคิดง่ายๆก็คือ ซื้อในนามส่วนตัวได้ใช้ แต่ไม่สามารถลดหย่อนภาษีอะไรได้ เว้นแต่บางปีที่มีนโยบายที่สนับสนุนของรัฐ แต่ถ้าเข้าเป็นชื่อของบริษัทนั้น ได้ค่าใช้จ่ายมาเต็มๆ แต่!! จะมีสินทรัพย์บางประเภทที่ไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้หมด เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งก่อนจะซื้อก็ควรศึกษาข้อมูลก่อนว่าสินทรัพย์ตัวไหนใช้ได้เท่าไหร่บ้าง อย่างไรก็ตามท่านต้องอธิบายต่อสรรพากรได้ว่าสินทรัพย์นี้ซื้อมาทำอะไรในกิจการ ถ้าเหตุผลฟังขึ้น ก็นำเงินออกจากกิจการได้หายห่วง

 

ขอเสริมในเรื่องของการซื้อรถ ถ้ารถเป็นชื่อของบริษัท การบำรุงรักษา และค่าน้ำมันสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่ารถบางประเภทจะไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ 100% ก็ตาม

 

ค่าเดินทาง

ท่านทราบหรือไม่จริงๆแล้ว เราสามารถกำหนดนโยบายของบริษัทได้ว่าถ้ามีการเดินทางสามารถนำมาเบิกเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้ โดยเอกสารที่ท่านจะต้องเตรียมก็คือมีใบสำคัญจ่าย พร้อมทั้งรายละเอียดให้เรียบร้อยว่าเดินทางจากไหนไปไหน ระยะทางเท่าไหร่ วันที่เท่าไหร่ เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ โดยกรรมการบริษัทเซ็นรับรองอนุมัติเบิก เช่นเดินทางจากบริษัทไปหาลูกค้าชื่อ... ที่... เป็นระยะทาง...กิโลเมตร อัตราระยะทางกิโลเมตรละ 5 บาทเป็นเงิน.....บาท แต่การจะทำแบบนี้ก็ให้สมเหตุสมผล ไม่ใช่ว่าไปเซเว่นหน้าปากซอยเบิก ควรจะเบิกเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกิจการจริงๆ

 

ค่าเช่า

บางกิจการใช้บ้านตัวเองเป็นที่อยู่บริษัท ท่านสามารถตั้งค่าเช่าให้ตัวเองได้ โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท แต่ในทางกลับกันก็เป็นรายได้ส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน ดังนั้นวิธีนี้ต้องวางแผนภาษีส่วนตัวด้วยเช่นกัน

 

ค่าน้ำค่าไฟและค่าโทรศัพท์

ต่อเนื่องจากเรื่องค่าเช่า ถ้าท่านเช่าบ้านตัวเองค่าน้ำค่าไฟ ถ้านำไปเปลี่ยนเป็นชื่อบริษัทแล้วก็สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้เช่นกัน แต่ข้อควรระวัง ถ้าบ้านนั้นใช้อยู่อาศัยด้วย ท่านจะต้องมีวิธีที่สมเหตุสมผลในการแยกค่าใช้จ่ายตัวนี้ ว่าเป็นการใช้ส่วนตัวกี่บาท เป็นของบริษัทกี่บาท

 

ค่าอาหารหรือค่ารับรอง

โดยอาหารบางมื้อท่านสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้ ที่ใช้คำว่าบางมื้อเพราะสรรพากรให้ค่าใช้จ่ายตัวนี้อย่างจำกัด คือให้เพียง 0.3% ของรายได้บริษัททั้งปีเท่านั้น นอกจากนั้นก็ต้องบวกกลับอยู่ดี แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งต่อให้ไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายภาษีก็ตาม แต่ก็เป็นการดึงเงินออกจากบริษัทอย่างถูกกฎหมาย โดยที่ท่านไม่โดนเป็นรายได้ส่วนบุคคลของท่านอยู่ดี

 

ค่าใช้จ่ายที่เป็นบิลเงินสด

บางกิจการซื้อของมาเป็นบิลเงินสด ซึ่งเป็นหลักฐานที่สรรพากรไม่ยอมรับ จริงๆแล้วก็มีวิธีการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายตัวนี้ให้เป็นค่าใช้จ่ายที่สรรพากรยอมรับได้ โดยกิจการจะต้องมีเอกสารภายในตัวนึง เช่นใบสำคัญจ่าย ทำขึ้นมาเพื่อประกบกับค่าใช้จ่ายตัวนี้ พร้อมให้กรรมการบริษัทเซ็นรับรองความถูกต้อง โดยจะต้องมีรายละเอียดว่าซื้ออะไรมา จำนวนเท่าไหร่ เป็นจำนวนกี่บาท วันที่เท่าไหร่ หรือ ถ้าเป็นสลิปเงินโอนตรงไปที่ร้านค้าได้จะดีมาก วิธีนี้ต้องระวังเรื่องความเหมาะสมว่าเกี่ยวข้องกับกิจการจริงหรือไม่ด้วย

 

การนำไปลงทุน

ท่านสามารถนำเงินไปต่อยอดธุรกิจได้ เช่นนำไปซื้อกองทุน ซื้อหุ้น โดยเงินลงทุนเหล่านี้อาจจะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายบริษัทโดยตรง แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการนำเงินออกจากบริษัทไปโดยถูกกฎหมาย แต่เวลาขายถ้ากำไรก็ถูกบันทึกเป็นรายได้ ในทางกลับกันถ้าขาดทุนก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน

 

เงินปันผล

วิธีนี้เป็นวิธีสุดท้าย ที่ไม่รู้จะหาค่าใช้จ่ายจากไหนแล้วเพราะกำไรดีมากเหลือเกิน โดยสามารถนำเงินออกจากกิจการดื้อๆเลย ด้วยวิธีการจ่ายเงินปันผล คำถามคือแล้วทำไมไม่ใช้วิธีนี้แต่แรกล่ะ....??

เหตุผลก็คือการจ่ายเงินปันผลจะถูกหัก ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งก็แปลว่าถ้าจ่าย 100 บาท ผู้ถือหุ้นก็จะได้รับเงินเพียง 90 บาท อีก 10 บาทต้องนำส่งสรรพากร ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาษีบุคคลของผู้ถือหุ้นอยู่ที่เรทไหน ถ้าต่ำกว่า 10% ก็สามารถไปขอเครดิตภาษีคืนจากกรมสรรพากรได้

แล้วถ้าไม่ขอล่ะมันจะต่างอะไรกับการไม่เปิดบริษัท.... คำตอบก็คือยังไงก็เสียภาษีน้อยกว่าบุคคลอยู่ดี เพราะบริษัทนอกจากจะหักค่าใช้จ่ายได้จริงแล้ว ภาษีสูงสุดจะอยู่ที่ 20% ซึ่งเมื่อรวมกับ 10% ดังกล่าวก็จะอยู่ที่ 30% ซึ่งภาษีบุคคลธรรมดาจะไปสูงสุดที่ 35% ยังไงวิธีนี้ก็ยังประหยัดภาษีได้มากกว่าเป็นรายได้ส่วนบุคคลอยู่ดี

 

สุดท้ายนี้การที่ท่านจะเลือกวิธีใดในการนำเงินออกจากบริษัท ก็ต้องดูตามความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายและประเภทธุรกิจของท่านด้วยว่าสัมพันธ์กันหรือไม่ ถ้าท่านไม่มั่นใจก็ควรหาที่ปรึกษาที่มีความรู้ ก็จะช่วยให้ท่านดึงเงินจากบริษัทอย่างถูกวิธี ถูกกฎหมาย และไม่ต้องกลัวสรรพากรอีกต่อไป

 

บทความโดย: บริษัท กรุงเทพการบัญชี (1975) จำกัด